Menu

นิทรรศการเฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก
รู้จัก "ฟิล์มกระจกมรดกความทรงจำแห่งสยามและมรดกความทรงจำแห่งโลก"

ฟิล์มกระจก คือ การนำแผ่นกระจกมาใช้รองรับการบันทึกภาพ เป็นการพัฒนาจากการถ่ายภาพระบบดาแกโรไทพ์ (Daguerreotype) ที่ใช้แผ่นโลหะเคลือบสารเคมีเป็นวัสดุในการรองรับการถ่ายภาพมาเป็น การใช้แผ่นกระจกเคลือบสารเคมีแทน ก่อนที่จะมีการคิดค้นฟิล์มถ่ายภาพที่ทำจากเซลลูโลส ไนเตรท ในปีคริสตศักราช ๑๙๐๓

ฟิล์มกระจกได้ถูกคิดค้นในปีคริสตศักราช ๑๘๕๑ โดยนักประดิษฐ์ชาวอังกฤษ ชื่อ Frederick Scott Archer ได้พัฒนาแนวคิดการถ่ายภาพแบบดาแกโรไทพ์โดยนำกระจกมาใช้แทนแผ่นโลหะและทำฟิล์มกระจก แบบเปียกขึ้นเป็นครั้งแรก ฟิล์มกระจกมีสองชนิด ได้แก่ กระจกเปียก (the collodion wet plate negative) และกระจกแห้ง (the gelatin dry plate)

ฟิล์มกระจกเปียก คือ แผ่นกระจกที่นำมาเคลือบสารเคมีในห้องมืดแล้วนำไปถ่ายภาพทันทีในขณะที่กระจกยังคงเปียก โดยกระบวนการมีความยุ่งยาก เริ่มตั้งแต่การเตรียมกระจกในห้องมืดจนถึงกระบวนการของการอัดรูปภาพที่ปรากฏจะมีโทนสีน้ำตาลอ่อนไปจนถึงสีน้ำตาลเข้ม นิยมใช้ระหว่างต้นปีคริสตศักราช ๑๘๕๐ – ๑๘๘๐ ผู้สนใจสามารถศึกษาขั้นตอนและกระบวนการของฟิล์มกระจกเปียกได้ที่ https://www.khanacademy.org/humanities/becoming-modern/early-photography/v/wet-collodion-process

ฟิล์มกระจกแห้ง พัฒนาโดย Richard Leach Maddox เมื่อปีคริสตศักราช ๑๘๗๑ เป็นการพัฒนาต่อจากฟิล์มกระจกเปียกเพื่อให้ใช้งานสะดวกมากขึ้น โดยเปลี่ยนสารเคมีที่ใช้เคลือบกระจกเป็นเจลาตินไวแสง (a light-sensitive gelatin emulsion) ต่อมา Mr. Charles Bennett ได้ปรับปรุงการทำกระจกแห้งด้วยการนำกระจกที่ฉาบสารเคมีมาล้างในขณะที่ยังหมาดเพื่อล้างเกลือเงินที่อยู่ในอีมัลชันออกให้หมด และเพื่อไม่ให้กระจก มีรอยตำหนิจึงปรับปรุงเรื่องความไวแสงจนเกิดกระจกแห้งสำเร็จรูป กระจกแห้งจึงประกอบด้วย แผ่นกระจก เจลาตินที่ใช้เคลือบ และสารละลายเงิน ซึ่งภาพที่ได้จะมีโทนสีเทาไปจนถึงสีดำ

การถ่ายภาพในสยามเริ่มขึ้นในสมัยรัชกาลที่ ๓ โดยเข้ามากับคณะเผยแพร่ศาสนาของพระสังฆราช โดยพระสังฆราช ฌ็อง บาติสต์ ปาเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) และบาทหลวง ลาร์นอดี (L' Abbé Larnaudie) ซึ่งได้ถ่ายทอดวิชาการถ่ายภาพให้แก่ พระยากระสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี) และพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทย

การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในยุคแรกนิยมในหมู่ชนชั้นสูงเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระราชนิยมในการถ่ายภาพทำให้เกิดการแพร่หลายในหมู่เจ้านาย ขุนนาง และผู้นิยมการถ่ายภาพมากขึ้น ช่วงพุทธศักราช ๒๔๗๒ ภายหลังจากการผลิตฟิล์มชนิดเซลลูลอยด์ การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกก็ได้รับความนิยมลดลง และเลิกใช้ในการบันทึกภาพทั่วไป หลงเหลือแต่เพียงผู้นิยมเพียงกลุ่มเล็ก ๆ

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว สมเด็จ ฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ขณะทรงดำรงตำแหน่งสภานายกหอพระสมุดวชิรญาณ ทรงริเริ่มจัดตั้งแผนกจดหมายเหตุ รวมถึงหอรูปขึ้น ทรงขอพระราชทานฟิล์มกระจกส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รวมถึงของพระองค์ที่ทรงถ่ายไว้ และทรงรวบรวมฟิล์มกระจกบางส่วนจากร้านถ่ายรูป “ฉายานรสิงห์” ซึ่งเป็นห้างถ่ายรูปในราชสำนัก ในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว มารวบรวมไว้ในหอรูป

ในเวลาต่อมา เมื่อมีการแบ่งส่วนราชการใหม่ ฟิล์มกระจกในหอพระสมุดวชิรญาณถูกส่งมอบให้สำนักพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ และสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ กรมศิลปากร เป็นผู้ดูแลตามลำดับ ฟิล์มกระจกชุดนี้จึงถูกเรียกตามแหล่งที่มาเดิม คือ หอพระสมุดวชิรญาณ ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณถูกจัดเก็บในกล่อง ไม้สักที่มีร่องสำหรับป้องกันการกระแทกของกระจก และมีกระดาษพิมพ์คำอธิบายภาพด้วยหมึกสีน้ำเงิน อันเป็นภูมิปัญญาการจัดเก็บฟิล์มกระจกให้คงสภาพเดิม ป้องกันความเสียหายได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วยหลากหลายขนาด ตั้งแต่ ๔ นิ้ว ถึง ๑๒ นิ้ว รวมจำนวนทั้งสิ้น ๓๕,๔๒๗ แผ่น แบ่งเป็น ภาพบุคคล ตั้งแต่พระมหากษัตริย์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชินี พระบรมราชเทวี พระอัครราชเทวี พระอัครชายาเธอ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ข้าราชการ ภิกษุ และชาวต่างประเทศ ภาพสถานที่ เช่น พระบรมมหาราชวัง พระราชวัง วังเจ้านาย สถานที่ราชการ ร้านค้า สถานีรถไฟ ไปรษณีย์ โรงพยาบาล ถนน สะพาน คลอง วัด โบราณสถาน เป็นต้น ภาพเหตุการณ์สำคัญ ภาพพระราชพิธีและพิธีสำคัญ และภาพเบ็ดเตล็ด เช่น พระพุทธรูป นาฏศิลป์ การละคร เครื่องประกอบพิธีสำหรับงานต่าง ๆ เป็นต้น

ปัจจุบัน ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณได้รับการดูแล ในห้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ตามลักษณะวัสดุ ตรงตามหลักวิชาการจดหมายเหตุ มีการจัดหมวดหมู่ กำหนดรหัสเอกสาร และจัดทำสำเนาในรูปแบบการอัดขยายภาพ (contact print) และรองด้วยกระดาษแข็ง หรือที่เรียกว่า ภาพ mount และการสแกน (digitization) เพื่อนำเข้าระบบฐานข้อมูลสำหรับให้บริการค้นคว้า

เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๕ องค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ได้ก่อตั้งแผนงานมรดกความทรงจำแห่งโลกขึ้น (The Memory of the World Programme of UNESCO) เพื่อให้ทั่วโลกได้ตระหนักถึงการอนุรักษ์มรดกเอกสาร และเผยแพร่มรดกภูมิปัญญาของโลกที่บันทึกไว้เป็นลายลักษณ์อักษร หรือสื่อผสม เช่น หนังสือตัวเขียน สิ่งพิมพ์ โสตทัศนวัสดุ ซึ่งเก็บอยู่ ณ ห้องสมุด และหอจดหมายเหตุทั่วโลก ซึ่งถือเป็นแหล่งรวบรวมความคิดและประสบการณ์ ที่สะท้อนให้เห็นความหลากหลายของความคิดริเริ่มและวัฒนธรรมของชนชาติต่าง ๆ ทั่วโลก มรดกความทรงจำโลก เป็นมรดกทางเอกสารหรือข้อมูลความรู้ที่ถูกบันทึกไว้ หรือประกาศถ่ายทอดออกมา ในรูปแบบหนังสือ สิ่งตีพิมพ์ รูปภาพ ฟิล์ม สื่ออิเล็กทรอนิกส์ ฯลฯ ต้องมีคุณค่ามากในระดับโลก จนสมควรพิทักษ์รักษาไว้ไม่ให้สูญสลาย เพื่อให้โลกได้ศึกษาค้นคว้าสืบไป

วันที่ ๒๑ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๔๙ สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติได้เสนอฟิล์มกระจกซึ่งเก็บรักษาอยู่ในสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ ต่อคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยแผนงานความทรงจำแห่งโลก ประเทศไทย ซึ่งคณะกรรมการ ฯ มีมติให้สำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติกรอกข้อมูลและรายละเอียดของฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ ตามแบบฟอร์มขององค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (ศึกษารายละเอียดของแบบฟอร์มได้ที่ http://www.mow.thai.net/?page_id=232) เพื่อนำเสนอขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำแห่งโลก และเมื่อ วันที่ ๓๐ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๖๐ ที่ประชุมคณะกรรมการแห่งชาติว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้ฟิล์มกระจกและภาพต้นฉบับจากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณขึ้นทะเบียนเป็นมรดกความทรงจำแห่งโลก นับเป็นเอกสารลำดับที่ ๕ ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดก ความทรงจำแห่งโลก

ฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวชิรญาณ จึงเป็นภาพสะท้อนบริบททางสังคมของประเทศ ที่แสดงให้เห็นถึงสภาพวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพบ้านเมือง ผ่านมุมมองของผู้ที่บันทึกภาพ ถือเป็นบันทึกประวัติศาสตร์ที่ได้รับการบันทึกด้วยภาพถ่าย ที่สื่อความหมายแทนบันทึกทางประวัติศาสตร์นอกเหนือไปจากเอกสารประเภท ลายลักษณ์อักษร หรือหลักฐานทางประวัติศาตร์ประเภทอื่น ฟิล์มกระจกจึงเป็นมรดกความทรงจำแห่งสยามที่มีคุณค่าต่อการเป็นมรดกความทรงจำของโลก ที่แสดงให้เห็นวิวัฒนาการของความคิด การค้นพบ และผลงาน ของสังคมมนุษย์ ซึ่งเป็นมรดกตกทอดจากสังคมในอดีต สู่สังคมปัจจุบัน เพื่อสืบสานให้แก่สังคมในอนาคต

เพื่อร่วมกันทำความรู้จักกับฟิล์มกระจกให้มากขึ้น กระทรวงวัฒนธรรม กรมศิลปากร โดยสำนักหอจดหมายเหตุแห่งชาติ มูลนิธิสิริวัฒนภักดี และบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) จึงขอเชิญชวนประชาชนชาวไทย ร่วมกันสัมผัสภาพประวัติศาสตร์จากฟิล์มกระจกชุดหอพระสมุดวิชรญาณไปพร้อมกัน ในงานนิทรรศการ “เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก Celebrating the National Glass Plate Negative Registered as UNESCO Memory of the World”

ระหว่างวันที่ ๒๖ พฤษภาคม - ๒๘ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๕๖๑ ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพมหานคร ระหว่างเวลา ๙.๐๐ – ๑๙.๐๐ นาฬิกา ทุกวันยกเว้นวันจันทร์ วันอังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์ ซึ่งเป็นวันหยุดของพิพิธภัณฑ์

นอกจากการแสดงภาพถ่ายจากฟิล์มกระจก ในงานยังมีกิจกรรมที่น่าสนใจ ได้แก่ การเสวนา การอวดภาพจากนักสะสมและบุคคลที่มีชื่อเสียง การจำหน่ายของที่ระลึก และพบกับกิจกรรมพิเศษในวันอาทิตย์ตลอดระยะเวลาของการจัดงาน ได้แก่ การสาธิตการทำฟิล์มกระจกและการถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจก เพื่อให้ผู้ชมได้รู้จักกระบวนการและที่มาของฟิล์มกระจก และถ่ายภาพย้อนยุคกับ “ฉายานิติกร” ที่เคยฝากชื่อไว้ในงานอุ่นไอรักที่ผ่านมาทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ตลอดระยะเวลาของการจัดงาน


โดยสามารถดูรายละเอียดของกิจกรรมต่าง ๆ ได้ที่ www.thaiglassnegative.com หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ โทร ๑๒ ๒๘๑ ๑๕๙๙ ต่อ ๒๒๒ ในวันและเวลาราชการ



หัวข้อน่าสนใจ


ผู้สนับสนุน



© 2018 เฉลิมฟิล์มกระจก ฉลองมรดกความทรงจำแห่งโลก